แพคเกจจิ้งก็เปรียบเหมือนหน้าตาของแบรนด์ ที่มีผลต่อการรับรู้ตลอดจนการขับเคลื่อนธุรกิจ สำหรับผู้ประกอบการหลายคน ก่อนจะออกแบบบรรจุภัณฑ์ดีๆ เพื่อใส่สินค้า รวมถึงกล่องที่จะมาใส่หีบห่อนั้น มาดูกันว่ามีอะไรต้องคำนึงถึงกันบ้าง?
ข้อมูลนี้มาจากการวิเคราะห์ของนักออกแบบบรรจุภัณฑ์มือรางวัลโลก คุณแชมป์ สมชนะ เจ้าของ prompt design ได้บอกไว้ว่า
Sustainable ตอบโจทย์ความยั่งยืน
ปัจจุบัน แบรนด์ใหญ่และเทรนด์ทั่วโลก หันมาใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนนี้อย่างจริงจัง จึงทำให้เราต้องใส่ใจรายละเอียดที่มากขึ้น เพราะเห็นผลกระทบและความเชื่อมโยงกันระหว่างสินค้า แบรนด์ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างเช่น แพคเกจจิ้งปลอดสารพิษ ย่อยสลายง่าย ช่วยลดภาวะโลกร้อน ประหยัดการขนส่ง รวมไปถึงนำกลับมาใช้ได้ใหม่ เป็นต้น
Minimalist ชัดเจน ตรงประเด็น ได้สาระสำคัญ
ไม่ใช่สไตล์น้อยแต่มาก แต่เป็นเรื่องการสื่อสารผ่านบรรจุภัณฑ์
เพราะทุกวันนี้ ผู้บริโภคล้วนรับรู้ข้อมูลแบบโอเวอร์โหลด ดังนั้น การสื่อสารผ่านแพคเกจจิ้งเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจง่าย และรวดเร็วจึงสำคัญ
ตัวอย่างชัดเจนคือน้ำวิตามิน ที่ออกแบบขวดให้เห็นความแตกต่างระหว่างน้ำเปล่าได้ชัดเจนใน 3 วินาทีด้วยขวดสีฟ้า รวมถึงการบอกจุดเด่นเรื่องวิตามินที่ตัวใหญ่
การเลือกสาระสำคัญที่ชัดเจน เพื่อสื่อสารให้ง่ายและตรงประเด็นที่สุดจึงสำคัญ ส่วนรายละเอียดที่ไม่จำเป็น ไม่ต้องเน้นหรือยกเว้นได้หากทำได้
Online Packaging อีคอมเมิซมาแรง
การทำให้บรรจุภัณฑ์สามารถตอบโจทย์เทรนด์ Unboxing Experience (ประสบการณ์แกะกล่อง) เพื่อเติมเต็มความรู้สึกของผู้บริโภคให้พึงพอใจ จนเกิดการบอกต่อ เช่น การใส่ message บางอย่างลงไป หรือออกแบบกล่องเพื่อผู้บริโภคจำแนกความแตกต่างระหว่างแบรนด์ได้ ด้วยความ “ใส่ใจ” ในรายละเอียด สิ่งนี้ช่วยสร้างความประทับใจที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์มากขึ้น
Different Shape โดดเด่นด้วยรูปทรงที่แตกต่าง
เพราะความ"โดดเด่น คนจึงรับรู้ได้เลยว่าแตกต่าง"
รูปทรงภายนอกคือสิ่งที่เห็นได้ชัดและจำแนกได้ง่ายที่สุด การออกแบบจึงสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ชำระสิ่งอุดตันในท่อ ที่ออกแบบรูปทรงได้ชัดเจนตามวัตถุประสงค์การใช้งาน และสีเหลืองที่โดดเด่นมองเห็นได้แต่ไกล ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจและจำแนกได้โดยง่ายในเวลาอันรวดเร็ว
สี และรูปทรง จึงเป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงในการออกแบบ ตัวอย่างเช่นการใช้กล่องบรรจุภัณฑ์ที่มีเฉดสีเดียวกับสินค้าหรือแบรนด์ มีโลโก้ เพื่อสร้างการจดจำ หรือการใส่เรื่องราวของแบรนด์ลงไปในงานกล่อง เป็นต้น
Influencer Collaboration พลังเสริมคูณสอง
การจับคนที่มีอิทธิพลต่อผู้คนทางความคิด (Influencer) เป็นเรื่องสำคัญในยุคนี้ อย่างในลักษณะกลุ่มของ micro influencer (ยอดผู้ติดตาม 5,000 - 100,000 คน) จะช่วยได้ดีในกลุ่มธุรกิจ SME ที่เพิ่งเริ่มต้น มีงบจำกัด หรือเหมาะกับกลุ่มสินค้าที่ตลาดมีความต้องการเฉพาะ (niche market) หรือใช้เพื่อต้องการขยายฐานตลาดไปยังกลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ ให้มีโอกาสได้ลองเปิดใจกับแบรนด์นั้นๆ
กลุ่ม macro influencer (ยอดผู้ติดตาม 100,000 คนขึ้นไป) ที่เน้นการรับรู้วงกว้าง
โดยเฉพาะเมื่อแบรนด์ร่วมมือกับ influencer ต่างๆ ย่อมได้ฐานลูกค้าที่เป็นแฟนคลับชั้นดีไปในตัว ตัวอย่างเช่น ดาราเกาหลีที่มักเป็นพรีเซนเตอร์สินค้า หรือคอลเลคชั่นสินค้าบนบรรจุภัณฑ์
ซึ่งปัจจุบัน ก็ไม่จำเป็นว่า Influencer นั้นจะต้องเป็นดารา หรือศิลปินเสมอไป เราจะเห็นผู้นำความคิดในหลากหลายอาชีพ ที่หากแบรนด์เชื่อมโยงได้ถูกจุด ก็เพิ่มโอกาสได้เสมอ
Smart Packaging ฉลาดและทันสมัย
การนำเทคโนโลยีมาใช้เชื่อมกับแพ็คเกจจิ้งหรือสินค้า เช่น แบรนด์ เนสกาแฟ ที่ให้สแกน AR สัมผัสภาพเคลื่อนไหวแบบ 3 D เพื่อ “สร้างการมีส่วนร่วม” ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ ซึ่งอีกหน่อยจะกลายเป็นเทรนด์ที่แพร่หลายมากขึ้นในอนาคต
ลองดูว่า แบรนด์คุณจะใช้แพ็คเกจจิ้ง มาเชื่อมโยงประสบการณ์กับลูกค้าเพิ่มขึ้นได้อย่างไร?
Design For Good ออกแบบความรู้สึกดีๆ ร่วมกัน
การนึกถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง ทำให้เรารู้สึกเป็น “คนดี” #แบรนด์ก็เช่นกัน
ตัวอย่างเช่นน้ำดื่มสิงห์ ที่ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา พิมพ์ฉลากบนขวดเป็นรูปเด็ก ซึ่งสามารถสแกน QR code ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ จากฉลากธรรมดา กลายเป็นฉลากสร้างประโยชน์สู่สังคม เกิดการโพสท์แล้วแชร์บอกต่อบนโซเชียลมากมาย
เมื่อบรรจุภัณฑ์ที่เข้าถึงกลุ่มผู้คน ไม่มุ่งสื่อถึงถึงผลกำไรเป็นหลัก แต่ช่วยเหลือสังคมในด้านอื่นๆ ด้วย เราจะเห็นพลังของผู้คนที่มีต่อการขยายเรื่องราวออกไปในวงกว้าง พร้อมทั้งยังสร้างความภูมิใจต่อลูกค้าที่ใช้สินค้านั้นๆ อยู่แล้ว เกิดความรู้สึกดีต่อแบรนด์ เพราะรับรู้ว่าแบรนด์ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น การสนับสนุนสินค้าของแบรนด์จึงเกิดความรู้สึกว่าได้ช่วยเหลือสังคมไปในตัว
Universal Design ครอบคลุม อย่างเท่าเทียม
ราวปี 2022 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ ซึ่งจะมีสัดส่วนประชากรมากถึง 20% ของคนในประเทศ ขณะที่ตอนนี้ ไทยเราอยู่ที่อันดับ 3 ของเอเชีย (ญี่ปุ่นเป็นอันดับ 1 และสิงคโปร์อันดับ 2) ดังนั้น บรรจุภัณฑ์ที่ดี ต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้บริโภคอย่างเท่าเทียมและเข้าใจมากขึ้น
เช่น การออกแบบเพื่อผู้สูงวัยที่คำนึงถึงลักษณะทางกายภาพ เช่น ข้อความอ่านง่าย เห็นชัด สีไม่ฉูดฉาดเกินไป เปิด-ปิดใช้งานสะดวก และสิ่งสำคัญคือทำให้ดูร่วมสมัย เพราะผู้สูงวัยทุกคนไม่มีใครอยากแก่! ดังนั้น การออกแบบอาจไม่ควรใส่รูปคนแก่ลงไป หากสินค้านั้นผู้บริโภคเป็นคนเลือกใช้สินค้าด้วยตัวเอง
ส่วนเสริมคือความพรีเมียมที่ก็ไม่ควรละเลย เพราะผู้สูงวัยส่วนใหญ่มีกำลังซื้อ ฐานะทางสังคมดี การให้เกียรติผู้บริโภคผ่านการออกแบบที่คิดมาเผื่อจึงตอบโจทย์ได้ดี
Comments